สถิติการเข้าดูหน้า Blog

วันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2558

เงินเดือนเท่าไรก็ไม่เคยพอ

          สมัยที่ผมเรียนจบใหม่ๆ  ผมเคยคิดนะครับว่าหากได้เงินเดือนซัก 13,000 บาทละก็มันคงเป็นสวรรค์ของผมชัดๆเลยทีเดียว (ประมาณปี พ.ศ. 2552) เพราะผมแทบไม่เคยสัมผัสคำว่ามนุษย์เงินเดือนจริงกับเขาซักทีเคยแต่อย่างดีก็พนักงาน Part-time ค่าแรงชั่วโมงละ 20 กว่าบาท ซึ่งทำงานจริงๆก็วันละไม่เกิน 4 ชั่วโมง แต่มันก็มากสำหรับเด็กคนหนึ่งที่ไม่เคยจับเงินก้อนโตขนาดนั้น และเมื่อใกล้เรียนจบผมก็อดตื่นเต้นไม่ได้ทุกครั้งที่คิดถึงเรื่องนี้ กับความฝันที่จะได้รับเงินจากน้ำพักน้ำแรงของตัวเองจริงๆซักที โดยไม่ต้องขอที่บ้าน ซึ่งคราวนี้แหละผมเองจะเป็นคนส่งให้ที่บ้านเอง 



          6 ปีผ่านไปไวเหมือนโกหกทั้งๆที่เป็นเรื่องจริง (ปี พ.ศ. 2558) วันนี้ผมเปลี่ยนงานมาแล้วหลายที่แล้วครับ แน่นอนถึงแม้ผมจะไม่ได้ขอเงินเดือนที่ใหม่มากมาย แต่ด้วยประสบการณ์และอายุงานที่มากขึ้น  ก็ทำให้ผมมีเงินเดือนมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ก่อนที่ผมเรียนจบผมวาดฝันไว้แค่ 13,000 บาท ซึ่งตอนนั้นผมคิดว่ามันพอสำหรับผมและค่อนข้างเยอะว่าที่ผมต้องใช้ต่อวันซะอีก ผมคงมีเงินเหลือใช้เหลือเก็บและส่งให้ที่บ้านมากพอที่จะทำให้พวกเขามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่วันนี้ผมพบว่าเงินเดือนเท่าไรก็ไม่เคยพอ ทั้งๆที่ไม่ว่าผมจะทำงานที่ไหน บริษัทเหล่านั้นก็มีนโยบายปรับเงินเงินเดือนทุกที่ อย่างที่ได้น้อยมากๆ ก็ปีละ 2% กว่าๆ และในการย้ายงานของผมแต่ละครั้งก็เรียกที่ละ 2,000-3,000 บาททุกครั้ง แต่ทำไมกันมันถึงดูว่าเงินเดือนผมน้อยจนไม่เคยพอทุกเดือน

          เหตุการณ์นี้ทำให้ผมได้คิดถึงพี่ที่ทำงานคนหนึ่งในบริษัทแรกที่ผมเข้าทำงาน เขาเคยพูดให้ผมฟังในปีแรกที่ผมได้ปรับเงินเดือน ซึ่งผมเข้างานมากลางปีครับจึงต้องรอถึงหนึ่งปีครึ่งกว่าจะได้ปรับตามรอบประจำปีของบริษัท ว่า "ผมไม่ควรจะเครียดเรื่องเงินขึ้นน้อย เพราะเงินเดือนที่ผมได้ปรับปีนี้ ถึงแม้จะได้น้อยแต่สมมุติว่าทางบริษัทปรับให้ผมปีละ 5,000 บาท อย่างไรผมก็ไม่พอในอนาคต" ซึ่งผมได้แต่ฟังตามประสาเด็กที่มาใหม่ และมีรุ่นพี่มาเพ้อๆ เรื่อง เงินๆ ทองๆ ให้ผมฟัง วันนั้นผมได้แต่นั้งฟังเงียบๆ แต่เถียงในใจ ว่ามันเป็นไปไม่ได้หากเงินเดือนผมเพิ่มทุกปี ผมก็ต้องมีเงินเก็บเพิ่มขึ้นทุกปีสิ  พี่ที่ทำงานเก่ายังบอกผมอีกว่า "เมื่อเราโตขึ้นของเล่นเราจะชิ้นใหญ่ขึ้น แน่นอนเราต้องจ่ายแพงขึ้น" ผมจึงถามกลับว่า "ของเล่นคืออะไรพี่พวกเราโตๆกันแล้ว" รุ่นพี่ที่ทำงานท่านนั้นก็หัวเราะแล้วบอกผมว่า "ของเล่นของคนวัยทำงานนี้แหละ ไม่เชื่อให้ผมคอยดู อนาคตไม่ว่าจะเป็นรถที่เราต้องซื้อใหม่ให้ดีกว่ารุ่นเก่าขึ้นเรื่อยๆ ข้าวของเครื่องใช้สิ่งอำนวยความสะดวกในบ้าน หรือแม้แต่การกินการอยู่ที่ต้องเพิ่มขึ้น กินดีอยู่ดีขึ้น  การเข้าสังคมที่แพงขึ้น หากผมมีลูกนะค่าเทอมลูกผมก็ต้องแพงขึ้นแน่นอน" วันนั้นผมก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดี ว่ามันจะแพงขึ้นได้อย่างไร เป็นเรื่องที่ผมไม่เข้าใจ และไม่คิดว่าผมจะปรับเปลี่ยนชีวิตให้มีรูปแบบการใช้ชีวิตที่ต้องใช้เงินมากมายขนาดนั้นได้อย่างไรกัน แน่นอนในใจผมเถียงเหมือนทุกครั้งว่าเป็นไปไม่ได้

          แล้วก็ผ่านมาอีกปี ในวันที่เงินเดือนออก ผมนับเงินในกระเป๋าแล้วก็ได้แต่ถอนหายใจว่าทำไมมันถึงเหลือน้อยจัง ทั้งๆที่ผมยังไม่มีครอบครัว ไม่มีรถ ไม่มีบ้าน เงินเดือนเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ทำไมผมถึงดูลำบากขนาดนี้ ทุกครั้งที่เปิด facebook ผมจะถามตัวเองเสมอว่าทำไมผมถึงได้จนแล้งแค้นขนาดนี้ ไม่เห็นเหมือนเพื่อนๆใน facebook เลยทุกคนดูมีความสุขมากๆ กินอาหารหรู เที่ยวทะเล ซื้อรถ ซื้อบ้าน ซื้อมือถือใหม่ ทำผมถึงจนขนาดนี้ การศึกษาประมาณเดียวกันคนเราสามารถแตกต่างกันได้ขนาดนี้เชียวหรอ บางทีผมก็คิดแง่บวกนะ ว่าพวกเขาอาจหนี้เพียบซุกไว้ข้างหลังหรือใต้พรมก็ได้  แต่มันจะต่างอะไรกับเด็กที่ไม่ได้ยอมรับความจริงเลย ความจริงที่ว่าเมื่อผมอายุมากขึ้น ของเล่นผมก็ชิ้นใหญ่ขึ้นจริงๆ ผมขอยกตัวอย่างค่าบริการรายเดือนโทรศัพท์ก็แล้วกันครับ ผมจำได้ว่าสมัยเรียนจบใหม่ๆ ผมจ่ายค่าบริการเหล่านี้เดือนละ 300 บาท (แบบเติมเงิน) มันเพิ่มมันขึ้นเรื่อยๆ จนตอนนี้เดือนละ 900 บาท คือแบบอันนี้ผมยอมรับว่ารวมค่าอินเตอร์เน็ต iPad กับของมือถือรวมกันครับ แต่ผมก็เคยเอาความสงสัยนี้ไปถามคนอื่นเหมือนกันว่า พวกเขาหมดค่าบริการเหล่านี้พอๆ กับผมไหม คำตอบที่ได้คือพอๆ กับของผม ยิ่งบางคนหากใช้เครือข่ายเดียวกับผมนะเราแทบจะเลือกโปรโมชั่นเดียวกันเลย ซึ่งนอกจากนี้ ผมยังมีค่าห้อง ซึ่งห้องที่อยู่ก็รวมทุกอย่างเดือนละ 3,500 บาท ซึ่งตอนเรียนจบผมนี้เลือกห้องที่รวมค่าน้ำค่าไฟ เดือนละ 1,500 บาทเสียด้วยซ้ำ ผมพบว่าทุกอย่างที่ผมเลือกอยู่เลือกใช้ดีขึ้นและแน่นอนมันแพงขึ้น



        ผมกับเพื่อนสนิทที่เคยทำงานที่เเรกด้วยกันมันจะปรับทุกข์กันเรื่องนี้  เรื่องเงินที่เหลือแต่ละเดือนในเกือบทุกเดือน ว่ามันไม่ค่อยเหลือเลย ทั้งๆที่เรา 2 คนเงินเดือนถูกปรับเงินมาเยอะพอสมควร ถึงแม้เราจะเงินเดือนเยอะขึ้นแต่รุปแบบการใช้ชีวิตของเราก็ทำให้เราใช้ชีวิตที่ต้องใช้เงินมากขึ้นเช่นกัน อย่างน้อยที่สุดภาษีสังคมก็ทำให้เราใช้เงินมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การสังสรรค์หลังเลิกงาน ซึ่งในที่ทำงานที่แรกเรามีแบบนี้กันบ้าง รวมๆกันออกคนละ 100 บาท เราก็สามารถเมากันได้แบบเมากันแล้วเมากันอีก แต่ที่ทำงานใหม่ของผมไม่นิยมสังสรรค์กันหลังเลิกงานทำให้ผมไม่มีค่าใช้จ่ายตรงนี้อีก แต่ของเพื่อนผมหมดครั้งละเป็นพันต่อคน ซึ่งมันก็ตามเงินเดือนที่เพิ่มขึ้นมาหลายเท่าตัวจากที่ทำงานที่แรก

         ปีนี้ผมขอเริ่มใหม่ สำหรับเงินเดือนที่ได้ปรับขึ้นมาของผม อันนี้ต้องยอมรับนะครับว่ามันน้อยมากๆ แต่เงินมากหรือน้อยมันไม่ได้สำคัญอีกแล้ว  มันขึ้นอยู่กับว่าเหลือเท่าไรมากกว่า นับตั้งแต่ผมได้ปรับขึ้นเงินเดือนปีนี้มา ผมเอาเงินที่ปรับ ขอสมมุตินะครับว่าได้ปรับปีนี้ 1,000 บาท ผมจะเอาเงินส่วนนี้ดึงออกจากบัญชีธนาคารทันนี้และรีบเอาไปไปฝากอีกบัญชีที่ผมเปิดไว้เพื่อเป็นเงินเก็บทันที ผมพบว่าผมสามารถทำได้มาหลายเดือนเเล้ว โดยที่ผมไม่ได้เดือนร้อนอะไรเพิ่มขึ้นเลย ผมแค่ใช้ชีวิตแบบเดิม กินแบบเดิมใช้แบบเดิม และเก็บแบบเดิม แต่เงินที่ได้ปรับของปีนี้ทำให้ผมมีเงินเก็บเพิ่มขึ้น ในทุกๆ เดือนหากมีมีการทำงานล่วงเวลา (OT) เงินตรงนี้ผมก็จะดึงเอาออกมาเก็บในก้อนนี้เช่นเดียวกัน  หลายปีที่ผ่านมาเมื่อผมเงินเดือนมากขึ้นและทำงานล่วงเวลามากขึ้น ผมกลับใช้มันหาความสุขให้ตัวเองมากขึ้น แน่นอนครับมันเหมือนวนเวียนไม่รู้จบ และสุดท้ายผมก็ได้แต่นั่งคิดว่าหลายปีที่ผ่านมาเงินเดือนที่ได้ปรับขึ้นและโดยเฉพาะค่าแรงจากการทำงานล่วงเวลา (OT) ของผมมนหายไปไหนหมด ทั้งๆที่ผมเหนื่อยขนาดนี้ ปีนี้ผมเริ่มแล้วครับ ทั้งที่ผมรู้ว่ามันสายเกินไป แล้วคุณละครับจะเริ่มเมื่อไร?


   น้องซิ่ง โลกสวย 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น